โครงสร้างและการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ

บมจ. พฤกษา โฮลดิ้ง (“บริษัทฯ” หรือ “พฤกษา โฮลดิ้ง”) ประกอบธุรกิจที่มีรายได้จากการถือหุ้นในบริษัทอื่นเป็นหลัก (Holding Company) ด้วย 2 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย และธุรกิจเฮลท์แคร์หรือโรงพยาบาล โดยในปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้แยกหน่วยธุรกิจ (Spin-off) ธุรกิจพรีคาสท์และก่อสร้างเพื่อสร้างมูลค่าใหม่และทำให้เป็นธุรกิจที่ทำกำไร (Profit Center) เพื่อขยายการให้บริการไปยังกลุ่มลูกค้าอื่นที่นอกเหนือจากบริษัทในเครือและกลุ่มลูกค้าเดิม นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้เปิดตัวและนำเสนอสินค้าและบริการจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซ มุ่งสู่การเป็น Lifestyle Enabler Platform ซึ่งจะช่วยยกระดับและสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจอสังหาฯ อันได้แก่ การให้บริการสมาร์ทโฮมและสมาร์ทเฟอร์นิเจอร์ การออกแบบตกแต่งภายใน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ทั้งลูกบ้านพฤกษา คนไข้กลุ่มวิมุต และกลุ่มลูกค้าทั่วไป รวมถึงการให้บริการมาร์เก็ตเพลสเพื่อเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มลูกค้ากับผู้ผลิตสินค้าโดยตรง และถือเป็น Backbone Platform สนับสนุนการบริการให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าบุคคลทั่วไป (B2C) สู่การบริการแก่ลูกค้าธุรกิจ (B2B) ผ่าน Clickbiz เพื่อช่วยส่งเสริมการจัดประสิทธิภาพการจัดซื้อจัดจ้าง (Procurement) และดึง Blockchain เข้ามาส่งเสริมการขยายกระบวนการภายในของธุรกิจพรีคาสท์และก่อสร้าง ซึ่งธุรกิจอีคอมเมิร์ซนี้ใช้เงินลงทุนไม่สูงเนื่องจากเป็นการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มเดิมของทั้งกลุ่ม

กลุ่มบริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นปรับพอร์ตโฟลิโอของธุรกิจอสังหาฯ ให้มีประสิทธิภาพและสามารถกระจายความเสี่ยงได้มากขึ้น ผ่านการจัดสรรสัดส่วนของที่อยู่อาศัยในมือที่มีราคาน้อยกว่า 3 ล้านบาทให้ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 40 นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญต่อนโยบายมุ่งเน้นการกระจายการลงทุนและหาโอกาสในการดำเนินธุรกิจใหม่เพื่อการเติบโต โดยเน้นลงทุนในธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ประจำ (Recurring Income) และสร้างความสามารถในการแข่งขันให้แก่ทั้งกลุ่ม โดยในปีที่ผ่านมา สัดส่วนทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ การลงทุนของธุรกิจเฮลท์แคร์ การลงทุนในกองทุนที่เกี่ยวกับธุรกิจโลจิสติกส์อัจฉริยะและอสังหาฯ เพื่อสุขภาพ

หัวใจหลักของการตัดสินใจลงทุนและการจัดสรรทรัพย์สินของกลุ่ม ผ่านการพิจารณาใน 3 แกนหลัก อันได้แก่ 1) ข้อได้เปรียบของการขยายการจัดซื้อจัดจ้าง การบริการคลังสินค้าแบบครบวงจร จนถึงการขนส่งของกลุ่มเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินทรัพย์โดยรวม 2) การร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อให้เกิดการขายระหว่างกัน (Cross Selling) และสามารถขยายมูลค่าตลอดอายุการใช้สินค้าและบริการของลูกค้า (Customer Lifetime Value) ให้นานขึ้นเพื่อตอบโจทย์กลยุทธ์ “อยู่ดี มีสุข” และ 3) เพิ่มขีดความสามารถจากขนาดและแพลตฟอร์มที่แตกต่างกันของธุรกิจในกลุ่ม มุ่งสู่การสร้างรายได้ประจำเพิ่มเป็นร้อยละ 25 ใน 5 ปีข้างหน้า เพื่อให้กลุ่มเติบโตอย่างยั่งยืน

การประกอบธุรกิจแยกตามกลุ่มธุรกิจ แบ่งเป็น 4 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจพรีคาสท์และก่อสร้าง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย ธุรกิจโรงพยาบาล และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ รวมถึงการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลัก โดยมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรมสำหรับกระบวนการผลิตสินค้าและบริการของธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

1. ธุรกิจพรีคาสท์และก่อสร้าง

ธุรกิจพรีคาสท์

ในปี 2566 บริษัทฯ มีการปรับโครงสร้างองค์กรและแยกหน่วยธุรกิจพรีคาสท์ซึ่งดำเนินงานโดย บจ. อินโน พรีคาสท์ (“Inno Precast”) ออกจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งอยู่ภายใต้ บมจ. พฤกษา เรียลเอสเตท (“พฤกษา เรียลเอสเตท” หรือ “PS”) โดยภายหลัง พฤกษา โฮลดิ้ง ได้แลกเปลี่ยนหุ้น (Share Swap) ร้อยละ 51 ใน Inno Precast และเข้าถือหุ้นร้อยละ 18.26 ใน บมจ. เจนเนอรัล เอนจิเนียริ่ง (“GEL”) ต่อมา Inno Precast ได้ออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ GEL ทำให้บริษัทฯ ถือหุ้นใน Inno Precast ลดลงเท่ากับร้อยละ 45 เพื่อเป็นการขยายโครงสร้างธุรกิจพรีคาสท์และทำให้ Inno Precast กลายเป็นโรงงานสีเขียวผู้ผลิตพรีคาสท์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ผ่านการแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญในด้านการทำการตลาด ฐานลูกค้าที่เหนียวแน่น และความสามารถในการก่อสร้างงานฟาซาดโครงการขนาดใหญ่และคอนโดมิเนียมจาก GEL จะทำให้เกิดความร่วมมือในการสร้างฐานลูกค้าใหม่ร่วมกัน ในส่วนของ Inno Precast มีเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย เปิดโอกาสให้ GEL ได้รับโอนถ่ายเทคโนโลยี (Technology Transfer) ทั้งการผลิตแผ่นพรีคาสท์คาร์บอนต่ำ (Low Carbon Precast) และระบบอัตโนมัติ (Automation) ที่มีประสิทธิภาพสูง จากความร่วมมือดังกล่าวจะก่อให้เกิดอัตราการใช้ประโยชน์ (Utilization Rate) สูงขึ้นและมีต้นทุนการผลิตลดลงอย่างต่อเนื่อง

ธุรกิจก่อสร้าง

ในปีเดียวกันนั้นเอง บริษัทฯ ก็ได้แยกหน่วยธุรกิจก่อสร้างซึ่งดำเนินงานโดย บจ. อินโน โฮม คอนสตรัคชั่น (“Inno Home”) ออกจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งอยู่ภายใต้ พฤกษา เรียลเอสเตท และนั่นทำให้ธุรกิจก่อสร้างของกลุ่มกลายเป็นผู้นำในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยแนวราบที่ใหญ่ที่สุดในไทย พร้อมเป็นผู้ให้บริการการก่อสร้างแบบครบวงจรแก่เจ้าของที่ดินที่สนใจพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในรูปแบบต่าง ๆ จากประสบการณ์การก่อสร้างที่มีมาอย่างยาวนาน ทำให้การก่อสร้างมีความรวดเร็ว มีคำสั่งซื้อในมือสูงทั้งจากบริษัทในเครือและบริษัทที่เป็นพันธมิตรกันมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านระบบจัดซื้อจัดจ้างด้วย Blockchain แบบการประมูลแบบรายปีด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Auction) กับคู่ค้ารายใหญ่ในประเทศที่เป็นสัญญาระยะยาว ทำให้สามารถจัดหาวัตถุดิบได้ในราคาที่แข่งขันได้ ถือได้ว่าธุรกิจก่อสร้างมีส่วนสนับสนุนแบบครบวงจร ทั้งจากธุรกิจพรีคาสท์ซึ่งเป็นบริษัทในเครือและเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิด รวมถึงอยู่ระหว่างการพัฒนาแพลตฟอร์ม B2B ร่วมกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซภายในกลุ่มพฤกษาเพื่อเชื่อมข้อมูลระหว่างผู้รับเหมาก่อสร้างและลูกค้าเข้าด้วยกัน นั่นทำให้ได้ประโยชน์ทางอ้อมจากการลดต้นทุนค่าก่อสร้างของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จากการประหยัดของขนาดได้ทันที ซึ่งจะช่วยให้บริษัทฯ มีเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้น และขยายฐานลูกค้าของธุรกิจก่อสร้างเพื่อให้บริการลูกค้าภายนอกเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีรายได้ประจำและกำไรเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ลักษณะและการจัดหาผลิตภัณฑ์หรือบริการ สำหรับธุรกิจก่อสร้างโครงการแนวราบ

ห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจพรีคาสท์และก่อสร้าง

1. การออกแบบแนวคิดธุรกิจและสถาปัตยกรรม

ศึกษาและวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย เพื่อพัฒนาแนวคิดสำหรับโครงการก่อสร้างและกำหนดรายละเอียดพื้นฐานของโครงการ ได้แก่ การออกแบบสถาปัตยกรรม การวางผังโครงการ และรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงการ

2. การออกแบบทางวิศวกรรมและการประมาณราคา

ความร่วมมือระหว่าง Inno Precast ในการออกแบบโครงสร้างบ้าน และ Inno Home ในการออกแบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ในโครงการจากแนวคิดทางธุรกิจที่กำหนดขึ้น และประมาณราคาต้นทุนการก่อสร้างจากแบบที่กำหนด โดยใช้ข้อมูลราคาต้นทุนวัสดุก่อสร้างและแรงงานที่มีการปรับปรุงให้ข้อมูลเป็นปัจจุบัน

3. การคัดเลือกคู่ค้า วัสดุก่อสร้าง และการสรรหาผู้รับเหมาก่อสร้าง

Inno Home ทำงานร่วมกับทีมออกแบบ ทีมก่อสร้าง และทีมจัดซื้อของพฤกษา เรียลเอสเตท ในการคัดเลือกวัสดุก่อสร้างให้คะแนน Value Score ทั้งทางด้านภาพลักษณ์ คุณภาพวัสดุและการก่อสร้าง การส่งมอบตรงเวลา และการบริการหลังการขาย โดยประเมินผลร่วมกันเป็นระยะ ๆ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการคัดเลือก โดยฐานข้อมูลนั้น ๆ สามารถใช้ในการตรวจสอบประเมินได้ หากเป็นคู่ค้าที่ดีจะได้รับการคัดเลือกให้เป็นคู่ค้าพันธมิตร (Partnership) มีสัญญาต่อเนื่อง 3 ปี เพื่อส่งเสริมให้คู่ค้ารักษาคุณภาพและบริการ มีการฝึกอบรมวิธีการก่อสร้างตามมาตรฐานของบริษัทให้กับผู้รับเหมาอยู่เสมอ โดยมีหัวหน้างานประจำแต่ละโครงการเพื่อควบคุมและตรวจรับงานอย่างใกล้ชิด

4. การจัดซื้อจัดจ้าง

กระบวนการวางแผนจัดซื้อจัดจ้างเป็นระบบ โดยจัดทำ E-Auction เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) คุณภาพของวัสดุก่อสร้าง และสามารถควบคุมการเปลี่ยนแปลงราคาวัสดุก่อสร้างได้ นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นจัดหาคู่ค้าที่เป็นรายใหญ่ โดยการประเมินและเปรียบเทียบกำลังการผลิตและศักยภาพในการจัดหาวัสดุ ปัจจุบัน Inno Home มีคู่ค้ารายใหญ่ที่มีศักยภาพสูงและสามารถปฏิบัติงานได้ตรงตามมาตรฐานประมาณ 800 รายในฐานข้อมูลของบริษัท

5. งานถมดินและงานเสาเข็ม

การนำตัวอย่างดินไปทดสอบตามหลักวิศวกรรมก่อนเริ่มดำเนินการ พร้อมตรวจสอบค่าระดับก่อนส่งมอบพื้นที่สำหรับงานเสาเข็มซึ่งถือเป็นงานโครงสร้างที่สำคัญ บริษัทใช้เสาเข็มที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน มอก. 396-2549 มีการตรวจสอบทั้งแนวดิ่งและแนวราบตามมาตรฐานหลักวิศวกรรมและการทำงานภายใต้ความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดด้วยวิธี Seismic Test เพื่อตรวจสอบความทนทานของโครงสร้างในสภาวะที่มีการสั่นสะเทือน

งานโครงสร้างพรีคาสท์

Inno Precast ประกอบธุรกิจผลิตและติดตั้งแผ่นพรีคาสท์ ถือเป็นโรงงานที่เป็น Green Factory ใช้แนวคิด “ขยะเหลือศูนย์” (Zero Waste) เพื่อเป็น “Net Zero Carbon Emission” นำเครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิตแผ่นพรีคาสท์ที่ทันสมัยจากประเทศเยอรมนีมาใช้ในการผลิต ทำให้การใช้วัสดุเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกระบวนการผลิตเหล็กตะแกรงใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ (เครื่อง Mesh Plant ) ตัดเหล็กให้มีขนาดตามแบบและไม่เหลือเศษ (Zero Waste) รวมถึงใช้ระบบ Recycling Concrete นำเศษคอนกรีตที่เหลือกลับมาใช้ในการผลิตคอนกรีตอีกครั้ง โดยในเดือนเมษายน ปี 2566 ได้นำเข้าเทคโนโลยีสีเขียว “คาร์บอนเคียว” (CarbonCure) มาใช้เป็นรายแรกในกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทย เพื่อผลิตแผ่นพรีคาสท์คาร์บอนต่ำ (Low Carbon Precast) ทำให้คอนกรีตแข็งแรงขึ้น และลดอัตราการใช้ซีเมนต์ได้กว่าร้อยละ 4-6 ของการใช้ซีเมนต์ในกระบวนการผลิตทั้งหมด เป็นเทคโนโลยีที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint) ตอกย้ำความเป็นอันดับหนึ่ง ในตลาดแผ่นพรีคาสท์คาร์บอนต่ำแห่งเดียวในประเทศไทย นอกจากนี้ ได้เริ่มติดตั้งโซลาร์เซลล์ในโรงงาน และใช้งานในเดือนธันวาคม ปี 2566 รวมถึงโรงงานพรีคาสท์ที่นวนครเป็นโรงงานคอนกรีตระบบปิด มีระบบเครื่องจับฝุ่น (Dust Collector) ทำให้ไม่มีฝุ่นปล่อยออกสู่ภายนอก โดยผลจากการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาปรับใช้ ทำให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงไปได้เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 22 ต้นต่อการซื้อบ้านพรีคาสท์ 1 หลัง

การนำเครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิตแผ่นพรีคาสท์ที่ทันสมัยมาใช้ในการผลิตเพื่อให้ได้ชิ้นงานที่มีคุณภาพดีตามมาตรฐานสากล ทั้งเหล็กเสริมจากเครื่องจักร Mesh Welding Plant สำหรับผลิตเหล็กตะแกรงด้วยระบบอัตโนมัติ ทำให้ได้เหล็กเสริมเป็นไปตามแบบของผู้ออกแบบเพื่อนำไปผลิตชิ้นงานพรีคาสท์ และผลิตคอนกรีตจาก Batching Plant ระบบปิดควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ขนส่งคอนกรีตไปยังเครื่องเทด้วยกระสวยลำเลียงทำให้คอนกรีตสดใหม่ ผ่านเครื่องเขย่า (Shaking Machine) ทำให้คอนกรีตแน่น และการบ่มคอนกรีตในห้องบ่มระบบอัตโนมัติ ทำให้ได้ชิ้นงานที่มีคุณภาพ โต๊ะหล่อผลิตจากประเทศเยอรมนีที่ใช้เหล็กแผ่นเดียวไม่มีรอยต่อ ขัดผิวหน้าคอนกรีตด้วยเครื่องขัดคอนกรีต ทำให้ผิวชิ้นงานมีความเรียบสม่ำเสมอทั้งแผ่น และการประกอบแบบข้างด้วยหุ่นยนต์อัตโนมัติโดยใช้แบบข้างผลิตจากประเทศเยอรมนียึดกับโต๊ะหล่อด้วยแม่เหล็ก ทำให้ได้ชิ้นงานที่มีขนาดเป็นไปตามแบบ

Inno Precast คิดค้นนวัตกรรมในการก่อสร้างด้วยระบบพื้น Precast Hybrid Slab เป็นรายแรกในประเทศไทย โดยรวมข้อดีของแผ่นพื้นแบบกลวง (Hollow Core) เป็นระบบพื้นผลิตด้วยคอนกรีตอัดแรงที่มีผิวแข็งแกร่ง และมีรูตรงกลางแผ่น ทำให้แผ่นพื้นมีน้ำหนักเบาขึ้น ช่วยให้ประหยัดการใช้โครงสร้างอื่น และช่องอากาศภายในช่วยลดการผ่านของเสียง หรือการแพร่กระจายของอุณหภูมิไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิร้อนหรือเย็นได้เป็นอย่างดี ใช้ร่วมกับแผ่นพื้นแบบตัน (Solid Slab) เป็นแผ่นพื้นตันคอนกรีตอัดแรง ทำให้โครงสร้างพื้นมีประสิทธิภาพดีขึ้น ติดตั้งรวดเร็ว และช่วยให้ประหยัดการใช้โครงสร้างอื่น โดยระบบพื้น Precast Hybrid Slab นี้จะช่วยลดการใช้คอนกรีต แต่มีความแข็งแรง ปลอดภัย และลดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างและการจัดส่งวัสดุด้วยน้ำหนักของโครงสร้างที่เบา ทำให้สร้างบ้านในราคาที่เหมาะสมและคุ้มค่าสูงสุด

กำลังการผลิตแผ่นพรีคาสท์

โรงงานพรีคาสท์ประกอบด้วย 7 โรงงาน มีกำลังการผลิตรวม 4.4 ล้านตารางเมตร/ปี โดยในปี 2566 Inno Precast ได้เข้าลงทุนในทรัพย์สินพรีคาสท์ของ GEL ทำให้มีโรงงานเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่ง รวมทั้งสิ้น 9 โรงงาน มีกำลังการผลิตรวม 5.2 ล้านตารางเมตร/ปี

  • โรงงานผลิตผนัง ผลิตด้วยระบบอัตโนมัติ (Automated Carousel System) จำนวน 4 โรงงาน คือ PCF1 และ PCF5 ที่ลำลูกกา PCF6 ที่นวนคร และ PCF8 ที่เชียงรากน้อย
  • โรงงานผลิตพื้นและคานคอดิน ผลิตด้วยระบบคอนกรีตอัดแรง (Prestressed Long Bed System) จำนวน 2 โรงงาน คือ PCF3 ที่ลำลูกกา และ PCF7 ที่นวนคร
  • โรงงานผลิตชิ้นงานรูปร่างพิเศษ บันได และรั้ว ผลิตด้วยระบบ Fixed Mould / Battery Mould จำนวน 2 โรงงาน คือ PCF2 และ PCF4 ที่ลำลูกกา และ PCF9 ที่เชียงรากน้อย

6. กระบวนการก่อสร้าง

การแยกหน่วยธุรกิจเป็นไปเพื่อการปรับโครงสร้างการบริหารและระบบงานภายใน มุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมสำหรับการให้บริการทั้งแก่ลูกค้าภายในและภายนอก เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาด โดยให้บริการงานก่อสร้างแนวราบแบบครบวงจร โดย Inno Home ได้จัดให้มีทีมวิศวกรซึ่งมีความชำนาญ (Construction Management) ทำหน้าที่ควบคุมและตรวจสอบการปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ถูกต้องตามหลักวิชาชีพทางวิศวกรรมและมาตรฐานการทำงานที่กำหนด บริหารจัดการความคืบหน้าการก่อสร้างและงบประมาณให้เป็นไปตามแผนงาน ดำเนินการตามข้อบังคับด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อม ดูแลการเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในชุมชนและผู้อยู่อาศัยรอบพื้นที่ก่อสร้างให้น้อยที่สุด ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาว่าจ้างอย่างครบถ้วน โดยระหว่างการก่อสร้างจะมีการประเมินผลงานและวางแผนร่วมกันกับทีมขายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมจำนวนสินค้าคงเหลือให้เป็นไปตามแผนการที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่มีต้นทุนจม และมีกระแสเงินสดหมุนเวียนในบริษัทอย่างต่อเนื่อง

Inno Home มุ่งสู่เป้าหมายของเสียเป็นศูนย์ (Zero Defect) ให้ความสำคัญกับคุณภาพของงานก่อสร้างภายใต้การบริหารจัดการที่ดี คัดเลือกผู้รับเหมาช่วงที่มีความสามารถและเหมาะสมกับประเภทงาน พัฒนามาตรฐานการก่อสร้าง (Standard Construction) เพื่อให้เกิดแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) และนำแนวปฏิบัติไปขยายผลและประยุกต์ใช้ในระบบการดำเนินการกับผู้ขาย (Supplier) และผู้รับเหมา (Contractor) อย่างมีประสิทธิภาพ ร่วมพัฒนาคุณภาพสินค้าและการให้บริการของคู่ค้า ปรับปรุงและพัฒนาระบบบริหารคุณภาพอย่างต่อเนื่อง (Continual Improvement) ผ่านระบบการบริหารจัดการประจำวันในงานก่อสร้าง (Construction Daily Management) เพื่อพัฒนาและควบคุมงานตามรูปแบบ TQM (Total Quality Management)

กำลังการผลิตของธุรกิจก่อสร้างหรือ Inno Home

งานบริหารการก่อสร้างแนวราบ แบ่งเป็นสายการผลิต (Production Line) ทั้งหมด 65 สายการผลิต สามารถก่อสร้างบ้านทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้น ได้ 910 หลังต่อเดือน หรือบ้านเดี่ยว 2 ชั้น ได้ 390 หลังต่อเดือน

การบริหารจัดการและแบ่งปันทรัพยากรด้านก่อสร้างสำหรับโครงการแนวราบให้เกิดประโยชน์สูงสุด

Inno Home มุ่งเน้นการบริหารทรัพยากรด้านก่อสร้างระหว่างทาวน์เฮ้าส์และบ้านเดี่ยวอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจสำหรับตลาดภายนอก โดยจัดการงานก่อสร้างแบบ Zoning ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณมลฑลเป็น 3 โซน ได้แก่ เหนือ-ตะวันออก ใต้-ตะวันออก และตะวันตก (ไม่รวมต่างจังหวัด) ทำให้งานบุคลากรและทรัพยากรได้รับประโยชน์สูงสุดระหว่างงานก่อสร้างทาวน์เฮ้าส์และบ้านเดี่ยว ลดค่าใช้จ่ายในการบริหารต้นทุนโครงการและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดได้

ธุรกิจก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียม

การบริหารจัดการงานก่อสร้างคอนโดมิเนียม ได้ถูกปรับเปลี่ยนจากก่อสร้างเองเป็นการว่าจ้างผู้รับเหมาภายนอก เพื่อการบริหารต้นทุนและคุณภาพให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากผู้ประกอบการหลายรายในไทยมีขนาดใหญ่และมีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีการก่อสร้างอาคารสูงโดยเฉพาะ รวมถึงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมจะต้องเนินการเป็นรายโครงการและไม่ใช่งานต่อเนื่อง ทำให้ยากต่อการบริหารจัดการบุคลากรภายหลังการก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จ การว่าจ้างผู้รับเหมาภายนอกจึงเป็นทางออกที่เหมาะสมในช่วงที่ผ่านมา โดย พฤกษา เรียลเอสเตท จะเริ่มต้นศึกษาและวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า เพื่อนำมาพัฒนาแนวคิดสำหรับโครงการก่อสร้างคอนโดมีเนียม พร้อมทั้งกำหนดรายละเอียดพื้นฐานของโครงการ และประมาณราคาเบื้องต้น หลังจากนั้น จะเป็นการว่าจ้างผู้รับเหมาภายนอกให้มาประมูลราคาและออกแบบทางวิศวกรรม จนถึงขั้นตอนงานก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์

7. การส่งมอบบ้านให้กับลูกค้า หรือพฤกษา เรียลเอสเตท

Inno Home มีกระบวนการตรวจสอบคุณภาพระหว่างการส่งมอบงานแต่ละขั้นตอนอย่างเข้มงวด ทั้งโครงสร้างมาตรฐาน ระบบไฟฟ้า ประปา ที่ถูกต้องตามแบบ โดยภายหลังการก่อสร้างเสร็จสิ้น จะมีกระบวนการทดสอบการใช้งานเพื่อตรวจสอบทั้งระบบไฟฟ้า ประปา และสุขาภิบาล ตลอดจนอุปกรณ์ทั้งห้องน้ำ ประตู-หน้าต่าง และอุปกรณ์นอกบ้าน ให้พร้อมใช้งาน ก่อนจะส่งมอบบ้านให้กับพฤกษา เรียลเอสเตท เพื่อส่งมอบเป็นบ้านพร้อมขายให้กับลูกค้าต่อไป

2. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ลักษณะผลิตภัณฑ์และการบริการ

พฤกษา เรียลเอสเตท ดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยประเภททาวน์เฮ้าส์ บ้านเดี่ยว และคอนโดมิเนียม มุ่งเน้นการพัฒนาโครงการในทุกพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตามพันธกิจหลักขององค์กร คือ “Live well Stay well” หรือ “อยู่ดี มีสุข” โดยแนวคิดนี้ไม่เพียงเป็นการสร้างที่อยู่อาศัยที่ดี แต่มุ่งเน้นการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ลูกค้า ผ่านการเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กับธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวเนื่องให้เข้ากับรูปแบบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใหม่ (Mega Trend) เพื่อส่งเสริมการใช้ชีวิตและการพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยปี 2566 พฤกษา เรียลเอสเตท ปรับรูปแบบธุรกิจโดยเน้นความต้องการของลูกค้าเป็นศูนย์กลาง พร้อมทั้งพัฒนาโครงการในระดับราคากลางถึงสูงเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทย โดยเลือกเปิดโครงการในทำเลดี ศักยภาพสูง ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้ารายได้ระดับกลางถึงสูงที่ต้องการที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองมิใช่เพื่อการเก็งกำไร (Real Demand) พร้อมปรับปรุงภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้เกิดความชัดเจนในการบริหารแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์

พฤกษา เรียลเอสเตท วางกลยุทธ์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทั้งยอดขายและยอดโอนที่ได้วางแผนไว้ในปี 2566 โดยมีกลยุทธ์พื้นฐาน ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงการพัฒนาบุคลากรและแนวทางการทำงานภายในเป็นรูปแบบ Agile Working Method และ Design Thinking ประกอบกับการพัฒนาแกนหลักของธุรกิจผ่านกลยุทธ์ Strengthen the Core โดยการเพิ่มสัดส่วนกลุ่มลูกค้า Real Demand พร้อมทั้งจัดหาที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการในระดับราคาสูงเพื่อการเปิดโครงการอย่างต่อเนื่อง เสริมความแข็งแกร่งด้วยความร่วมมือกับบริษัทในเครือพฤกษา โฮลดิ้ง ทั้ง บจ. โรงพยาบาลวิมุต โฮลดิ้ง (“วิมุต” หรือ “VMH”) และ บจ. ซินเนอร์จี โกรท (“SGC”) เพื่อพัฒนาการให้บริการทั้งด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีการอยู่อาศัย ให้สอดคล้องกับ Mega Trend โดยมีการพัฒนาโครงการเพื่อผู้อยู่อาศัยทุกวัย พัฒนาโครงการที่มีการออกแบบบ้านด้วยแนวคิด Passive Home ใช้พลังงานอย่างยั่งยืนผ่านการติดโซลาร์เซลล์ และใช้เทคโนโลยี Home Automation ภายในโครงการเชื่อมต่อกับ MyHaus Application เพื่อส่งมอบที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพให้ลูกค้าได้

ปัจจุบัน PS แบ่งธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายเป็น 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ทาวน์เฮ้าส์ กลุ่มผลิตภัณฑ์บ้านเดี่ยว และกลุ่มผลิตภัณฑ์คอนโด

กลุ่มผลิตภัณฑ์ทาวน์เฮ้าส์ มีโครงการที่เปิดขายแล้วภายใต้ชื่อ (แบรนด์) ดังนี้

บ้านทาวน์เฮ้าส์

พฤกษา เรียลเอสเตท เป็นผู้นำในกลุ่มผลิตภัณฑ์ทาวน์เฮ้าส์ในระดับราคา 1-2 ล้านบาท ภายใต้แบรนด์ บ้านกรีนเฮ้าส์ และบ้านพฤกษา และระดับราคา 2-3 ล้านบาท ภายใต้แบรนด์ พฤกษาวิลล์ นอกจากนี้ยังขยายการพัฒนาบ้านในกลุ่มระดับราคา 3-5 ล้านบาท ภายใต้แบรนด์ เดอะคอนเนค รวมถึงกลุ่มลูกค้าในระดับราคามากกว่า 5 ล้านบาท ภายใต้แบรนด์ พาทิ โอ โดยเน้นกลุ่มลูกค้าที่ต้องการที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองมิใช่เพื่อการเก็งกำไร ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และต่างจังหวัดที่มีศักยภาพ

กลุ่มผลิตภัณฑ์ทาวน์เฮ้าส์ ได้ดำเนินการพัฒนาโครงการ เพื่อการอยู่อาศัยที่ดีสำหรับทุกคน โดยคำนึงถึงไลฟ์สไตล์ของแต่ละกลุ่มผู้อยู่อาศัยในทุกมิติ จึงมุ่งเน้นการพัฒนาด้านฟังก์ชั่นการใช้งานและเป็นผู้นำด้านลีฟวิ่ง โซลูชั่น โดยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 14 ของส่วนแบ่งตลาดที่อยู่อาศัยทาวน์เฮ้าส์ และมีสัดส่วนรายได้ประมาณร้อยละ 40 ของรายได้อสังหาริมทรัพย์ของบริษัทฯ

กลุ่มผลิตภัณฑ์บ้านเดี่ยว มีโครงการที่เปิดขายแล้วภายใต้ชื่อ (แบรนด์) ดังนี้

บ้านเดี่ยว

กลุ่มเป้าหมายของผลิตภัณฑ์บ้านเดี่ยว คือ ลูกค้าในกลุ่มระดับราคา 4-30 ล้านบาท โดยแบ่งสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ใหม่ ให้สอดคล้องกับภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ดังต่อไปนี้ ระดับราคา 4-7 ล้านบาท ภายใต้แบรนด์ เดอะแพลนท์ ระดับราคา 8-15 ล้านบาท ภายใต้แบรนด์ ภัสสร ระดับราคา 15-30 ล้านบาท ภายใต้แบรนด์ เดอะปาล์ม รวมทั้งในปี 2567 เป็นต้นไป จะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับบ้านระดับราคาสูง (Super Luxury) คือ ระดับราคามากกว่า 30 ล้านบาท

กลุ่มผลิตภัณฑ์บ้านเดี่ยว มีนโยบายที่มุ่งเน้นเรื่องความเป็นเลิศด้านผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ได้บ้านที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า และตอบสนองการใช้งาน ทั้งในด้านสุขภาพ การใช้ชีวิต และความยั่งยืน โดยเริ่มต้นการพัฒนาต้นแบบในโครงการ เดอะปาล์ม (The Palm) ในรูปแบบของ Wellness Residence คือการนำเอาบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้ามาผนวกเข้ากับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของโครงการใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) บริการด้านการแพทย์ (Medical Service) โดยการนำเสนอบริการทางการแพทย์ เช่น การจัดให้มีแพทย์ประจำโครงการ และให้คำปรึกษาด้านสุขภาพเบื้องต้นได้ 2)บริการด้านสุขภาพเชิงป้องกัน (Wellness Service) โดยการนำบริการและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและสามารถส่งเสริมให้ลูกค้ามีสุขภาพที่ดีในการอยู่อาศัยมาให้กับลูกค้าในโครงการ เช่น การออกแบบสินค้าร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ และการนำเอานวัตกรรมการแลกเปลี่ยนอากาศภายในบ้านมาใช้งาน และ 3) บริการด้านการใช้ชีวิต (Lifestyle Service) โดยการพัฒนาบริการและนวัตกรรมที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวันมาใช้ในโครงการร่วมกับบริษัทในเครือพฤกษา โฮลดิ้ง เช่น การใช้ MyHaus Application การติดตั้งโซลาร์เซลล์ รวมถึงการบริการสั่งซื้อสินค้าผ่าน Clickzy ทั้งนี้จะมีการขยายผลของการดำเนินการเพื่อให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ของบ้านเดี่ยวให้ครบทุกแบรนด์ในอนาคต

กลุ่มผลิตภัณฑ์บ้านเดี่ยว มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 3 ของส่วนแบ่งตลาดบ้านเดี่ยว และมีสัดส่วนรายได้ประมาณร้อยละ 27 ของรายได้อสังหาริมทรัพย์ของบริษัทฯ

กลุ่มผลิตภัณฑ์คอนโดมิเนียม มีโครงการที่เปิดขายแล้วภายใต้ชื่อ (แบรนด์) ดังนี้

คอนโด

กลุ่มผลิตภัณฑ์คอนโดมิเนียม มีการแบ่งผลิตภัณฑ์ตามระดับราคาภายใต้แบรนด์ดังต่อไปนี้ ระดับราคา 1-2 ล้านบาท ภายใต้ แบรนด์ พลัมคอนโด ระดับราคา 2-5 ล้านบาท ภายใต้แบรนด์ แชปเตอร์วัน เดอะทรี และเดอะไพรเวซี่ ระดับราคา 5-7 ล้านบาท ภายใต้แบรนด์ แชปเตอร์ และระดับราคา 7 ล้านบาทขึ้นไป ภายใต้แบรนด์เดอะรีเซิร์ฟ

กลุ่มผลิตภัณฑ์คอนโดมิเนียม ได้ดำเนินการก่อสร้างโดยใช้ความต้องการของลูกค้ามาพัฒนาโครงการเพื่อสร้างความแตกต่างด้านผลิตภัณฑ์ (Product Differentiation) ให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ด้วยการสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตการอยู่อาศัยอย่างสมบูรณ์แบบ ในปี 2566 นอกจากการเน้นการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมในทำเลที่ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละกลุ่ม และการนำเสนอโปรโมชันและแคมเปญที่เป็นที่น่าสนใจแล้วนั้น PS ยังได้พัฒนาความสัมพันธ์และเพิ่มจำนวนตัวแทนขาย (Agent) สำหรับลูกค้าทั้งในและต่างประเทศรวมทั้งสิ้น 44 ราย เพิ่มขึ้นจากในปี 2565 ที่มีทั้งสิ้นรวม 15 ราย ทำให้มีโครงการที่ประสบความสำเร็จสูง ได้แก่ พลัมคอนโด นิว เวสต์ จากแคมเปญและแพ็คเกจราคาที่คุ้มค่า พร้อมส่วนกลางรูปแบบใหม่ และเป็นโซนที่มีความต้องการเช่า จนเป็นโครงการแรกที่การันตีผู้เช่าปีแรกพร้อมผลตอบแทนเฉลี่ยที่ร้อยละ 5 อีกหนึ่งโครงการได้แก่ แชปเตอร์วัน สปาร์ค จรัญฯ รองรับทุกไลฟ์สไตล์ ในส่วนของสาธารณูปโภคในโครงการได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลวิมุตร่วมกันออกแบบเพื่อสร้าง Wellness Living Experience ในการอยู่อาศัย

PS มีนโยบายมุ่งเน้นการสรรหาที่ดินที่มีศักยภาพ โดยบริหารสัดส่วนของคอนโดมิเนียมแนวราบ (Low Rise) และคอนโดมิเนียมแนวสูง (High Rise) เพื่อการบริหารรายได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว มีสัดส่วนในตลาดคอนโดมิเนียมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประมาณร้อยละ 3 ของส่วนแบ่งตลาดคอนโดมิเนียม และมีสัดส่วนรายได้ประมาณร้อยละ 33 ของรายได้อสังหาริมทรัพย์ของบริษัทฯ

3. ธุรกิจโรงพยาบาล หรือ เฮลท์แคร์

ลักษณะผลิตภัณฑ์และการบริการ

บจ. โรงพยาบาลวิมุต โฮลดิ้ง (“วิมุต” หรือ “VMH”) มุ่งสร้างระบบนิเวศผ่านกลยุทธ์ 5G ซึ่งได้แก่

  1. Good doctor: สรรหาแพทย์ประจำและแพทย์ที่ปรึกษา ที่มีความเชี่ยวชาญ และขีดความสามารถในการให้บริการด้านการแพทย์ที่เป็นสากล เพิ่มขึ้นเป็น 420 คน ณ สิ้นปี 2566
  2. Good nurse & staff: รักษาและเพิ่มจำนวนบุคลากรที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน และเป็นที่ต้องการของตลาดในปัจจุบัน โดยการปรับปรุงเรื่องค่าตอบแทน พร้อมทั้งส่งเสริมคนให้เหมาะกับงานเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่มีพยาบาลเฉพาะทางอยู่ 15 รายจากพยาบาลทั้งหมด 104 ราย
  3. Good System: มุ่งเน้นคุณภาพผ่านระบบงานและเทคโนโลยีที่เป็นมาตรฐานและเชื่อถือได้
  4. Good Partnership: ขยายธุรกิจผ่านพันธมิตร โดยเฉพาะกองทุนกลุ่มเฮลท์แคร์ทั้งในและต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ รวมถึงกลุ่มแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งจะสามารถแบ่งปันประสบการณ์และความชำนาญระหว่างกันได้
  5. Good referral system: การขยายขีดความสามารถของโรงพยาบาลในองค์รวม ภายหลังการพัฒนาความเชี่ยวชาญเฉพาะทางให้เพิ่มขึ้น จะเริ่มพัฒนาโครงการศูนย์ความเป็นเลิศ หรือ Center of Excellence (COE) สำหรับโรคที่มีความซับซ้อนต่าง ๆ เช่น การรักษาโรคมะเร็ง หรือศัลยกรรมกระดูก และเกิดการรับส่งผู้ป่วยระหว่างในกลุ่มวิมุต รวมถึงการขยายไปที่โรงพยาบาลเอกชนกลุ่มอื่น ๆ

โดยผ่านการขยายแพลตฟอร์มในหลายรูปแบบ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ แบ่งเป็น

  1. กลุ่มโรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลวิมุต และโรงพยาบาลเทพธารินทร์
  2. ส่วนต่อขยายจากโรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลเฉพาะทาง ศูนย์ดูแลผู้สูงวัยหรือเนอร์สซิ่งโฮม และคลินิกบ้านหมอวิมุต เพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์การขยายธุรกิจระยะกลางถึงระยะยาว
  3. การนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ (Digitization) ทั้งการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ของวิมุต ทั้งแอปพลิเคชัน และอื่น ๆ รวมถึงการรวมศูนย์ข้อมูลระหว่างกันเพื่อทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  4. ความร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกกลุ่ม ทั้งภายในและต่างประเทศ

กลุ่มโรงพยาบาล

โรงพยาบาลวิมุต

โรงพยาบาลแห่งแรกของกลุ่มโรงพยาบาลวิมุต บนพื้นที่ขนาดประมาณ 4 ไร่ ตั้งอยู่บนถนนพหลโยธินใกล้สี่แยกสะพานควาย เริ่มเปิดให้บริการในเดือนพฤษภาคม 2564 เป็นโรงพยาบาลทั่วไปแบบพักค้างคืนขั้นตติยภูมิ (Tertiary Care) ขนาด 236 เตียง โดยปัจจุบันขยายการให้บริการเป็น 150 เตียงรองรับการเติบโตในปี 2567 นำเสนอบริการรักษาพยาบาลทั้งโรคทั่วไปและโรคที่มีความซับซ้อน โดยในปีผ่านมาโรงพยาบาลได้ผ่านการรับรองมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ (Hospital Accreditation: HA) ขั้น 2 และอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเพื่อมาตรฐานของ Joint Commission International: JCI ยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยสากล เพื่อรองรรับจำนวนคนไข้ต่างชาติที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

ในปี 2566 แม้การให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับโควิด-19 ลดลง แต่มีรายได้จากการให้บริการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น ร้อยละ 84 จากปี 2022 (ไม่นับรวมรายได้จากโควิด-19 และวัคซีนโควิด) ส่งผลให้รายได้รวมเติบโตขึ้น โดยมีการให้บริการผู้ป่วยนอกมากกว่า 165,000 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 124,000 ราย ค่ารักษาพยาบาลต่อคนไข้เพิ่มขึ้นจากการรักษาโรคเฉพาะทางมากขึ้น จากการเปิดหน่วยส่องกล้องและลำไส้และมีศูนย์แพทย์เฉพาะทางที่โดดเด่น ได้แก่ ศัลยกรรม กระดูกและข้อ หัวใจ สมอง ระบบประสาท และศูนย์สุขภาพสตรี อีกทั้งการสร้างความร่วมมือกับแพทย์ที่มีชื่อเสียงให้นำคนไข้มารักษาที่โรงพยาบาลเพื่อทำให้วิมุตเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น ความร่วมมือกับทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งโครงการร่วมรามาธิบดี-วิมุต โดยคนไข้ที่นัดหมายที่โรงพยาบาลรามาธิบดีสามารถเข้ารับการผ่าตัดที่วิมุตได้ ทั้งนี้ได้ขยายโครงการต่อเนื่องไปในโครงการตรวจการนอนหลับ การทำเคมีบำบัด และการผ่าตัดที่มีความซับซ้อน นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอแพ็คเกจตรวจสุขภาพประจำปี หรือตรวจรักษาโรคต่าง ๆ กับบริษัทเอกชนรายใหญ่ และบริษัทประกัน รวมถึงเปิดให้บริการแผนกคนไข้ต่างชาติ เพื่อรองรับความต้องการที่มากขึ้น ทั้งในภูมิภาคนี้และประเทศอาหรับที่มีค่าใช้จ่ายการรักษาสูง ทำให้รายได้จากคนไข้ชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 85 รวมถึงการนำเสนอบริการและโปรโมชันที่น่าสนใจ เช่น On the go clinic หรือ คลินิกในชุมชน บริการตรวจแล็บและทราบผลภายใน 15 นาที และสามารถส่งตัวคนไข้เข้าวิมุตได้ทันที

โรงพยาบาลเทพธารินทร์

วิมุต มีสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 51.57 ใน บจ. เทพธัญญภา ซึ่งดำเนินกิจการโรงพยาบาลเทพธารินทร์ ตั้งอยู่บนถนนพระราม 4 ซึ่งเป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาดกลาง 80 เตียง มีความเป็นเลิศด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยแบบครบวงจร โดยเฉพาะการรักษาโรคเบาหวานและไทรอยด์ ซึ่งเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลเทพธารินทร์ มีความสอดคล้องกับแนวทางดำเนินธุรกิจของโรงพยาบาลวิมุต ที่ต้องการดูแลผู้ป่วยทั้งในโรงพยาบาล ไปจนถึงการใช้ชีวิตในชุมชนของตนเอง ในปีที่ผ่านมา โรงเรียนเบาหวาน (DM Academy) โรงพยาบาลเทพธารินทร์ได้เปิดรับการดูงานจากทั้งโรงพยาบาลและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงมุ่งเน้นด้านวิชาการและการผลิตบุคลากรด้านโภชนาการและการกำหนดอาหารอย่างต่อเนื่อง

ส่วนต่อขยายจากโรงพยาบาล

ด้วยแนวทางการขยายแผนธุรกิจสร้าง Trusted Healthcare Platform และมุ่งขยายระบบนิเวศการดำเนินงานทางด้านการแพทย์เพื่อเสริมสร้างสุขภาพของคนไทย นอกเหนือจากการมีเครือข่ายโรงพยาบาล ในปีที่ผ่านมา วิมุตยังได้พิจารณาสรรหาพันธมิตรเพื่อดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลเฉพาะทาง ตั้งแต่ศัลยกรรมกระดูกและข้อ โรคหัวใจ โรคสมอง โรคตา โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง นอกจากนี้ เพื่อยกระดับประสบการณ์การรับบริการพร้อมขยายฐานลูกค้า ตอบรับเทรนด์สุขภาพของผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มให้ความสนใจการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมมากขึ้น ส่งเสริมการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน และสร้างมาตรฐานใหม่ของบริการด้านการแพทย์เพื่อยกระดับประเทศไทยสู่การเป็น Long-Term Care Destination ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มวิมุตได้เริ่มดำเนินการเนอร์สซิงโฮมแห่งแรกที่บางนา-วงแหวน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 เพื่อเป็นศูนย์ฟื้นฟูและดูแลสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุขนาด 50 เตียง โดยในปี 2566 ได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลสิรินธร สำหรับโครงการ IMC (Intermediate Care) เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการกายภาพบำบัดและฟื้นฟูได้ทันท่วงทีหลังจากบาดเจ็บทางสมองและกระดูกสันหลัง และสามารถเบิกค่าใช้จ่ายกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ นอกจากนี้ เพื่อเป็นการขยายธุรกิจให้เติบโตทันต่อความต้องการของตลาด วิมุตได้จับมือกับกลุ่มบจ. เค.พี.เอ็น.ซีเนียร์ ฮอสปิตัล ซึ่งพฤกษา โฮลดิ้ง เข้าถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 25 ของจํานวนหุ้นทั้งหมดและการลงทุนในเงินกู้แปลงสภาพ ตั้งเป้าเพิ่มเนอร์สซิงโฮมของกลุ่มวิมุตในย่าน แบริ่งและวัชรพล พร้อมขยายเพิ่มอีก 5 แห่งในอีก 3 ปี โดยตั้งเป้าบริหารจํานวนเตียงรวม 600 เตียง ในขณะเดียวกันคลินิก “บ้านหมอวิมุต” ซึ่งเปิดนำร่องให้บริการตั้งแต่ปี 2561 ในย่านรังสิต จังหวัดปทุมธานี ให้บริการรักษาโรคทั่วไป ตรวจเลือด ตรวจสุขภาพ ฉีดวัคซีน และให้คำปรึกษาด้านสุขภาพโดยแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัว เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ต่อยอดจากโรงพยาบาลวิมุต เพื่อให้การบริการทางการแพทย์เข้าถึงชุมชนมากขึ้น โดยในปีนี้ เน้นการทำคลินิกชุมชนร่วมกับหมู่บ้านของพฤกษา เรียลเอสเตท และชุมชนใกล้เคียง ผ่านกิจกรรมการขับเคลื่อนสังคม เช่น กิจกรรมชุมชนด้าน Proactive Program กิจกรรมผู้สูงวัย หรือ Wellness Camp ต่าง ๆ

การนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ (Digitization)

การบริการดูแลสุขภาพถึงบ้าน (Health to home) เพื่อสร้างชุมชนให้น่าอยู่และตอบสนองการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมปัจจุบันได้อย่างครอบคลุม กลุ่มวิมุตจึงได้ขยายฐานการให้บริการออกไปในแนวกว้างเพื่อให้การบริการเป็นมากกว่าการรักษาโรคในโรงพยาบาล ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาขยายแพลตฟอร์มออนไลน์ของวิมุต ทั้งการจัดทำ ViMUT Application เพื่อเพิ่มช่องทางในการให้บริการคนไข้ ให้เข้าถึงการรักษาได้ตลอดเวลา โดยเปิดให้บริการ Telemedicine & Telepharmacy ซึ่งคนไข้สามารถเข้าถึงการปรึกษาแพทย์ออนไลน์ได้โดยไม่ต้องมาที่โรงพยาบาล รวมถึงบริการจัดส่งยาถึงบ้าน และการชำระเงินออนไลน์ได้ทันที ผ่านการสร้างโรงพยาบาลให้เป็น Virtual Hospital ทั้งระบบ พัฒนาการจัดเก็บและรวมศูนย์ข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลวิมุตและเทพธารินทร์ มีดิจิทัลโซลูชันช่วยในการบริหารจัดการข้อมูลและเชื่อมต่อการทำงานระหว่างส่วนงานต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำและปลอดภัย เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ให้ทราบถึงความต้องการและพฤติกรรมของคนไข้อย่างสูงสุด

ความร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ

ด้านการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจเฮลท์แคร์เพื่อต่อยอดพันธกิจด้านนวัตกรรม ทั้งความร่วมมือกับโรงพยาบาลรามาธิบดี ความร่วมมือเพิ่มเติมภายหลังการลงทุนใน Pathology Asia Holdings ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำการให้บริการด้านการวินิจฉัยทางการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในปีนี้ ได้จัดตั้งกิจการร่วมค้าและเข้าซื้อ แลปพลัสวัน จากโรงพยาบาลเทพธารินทร์ เพื่อนำมาต่อยอดระบบการบริหารแล็บที่ทันสมัยและมุ่งขยายกิจการในประเทศไทย ภายหลังการเข้าลงทุนใน Amili Health ซึ่งเป็นแลปดูแลสุขภาพองค์รวมของลำไส้ (Microbiome - Gut Health) ในปีนี้ วิมุตได้ร่วมทุนกับนัลลูรี่ เทอราพิวติกส์ เพื่อให้บริการสุขภาพผ่านระบบดิจิทัลและให้คำปรึกษาด้านสุขภาพกายและใจ เป็นการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าธุรกิจ (B2B) และบุคคลทั่วไป (B2C) ในไทยเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้สร้างความร่วมมืออย่างต่อเนื่องกับกลุ่มบริษัทเอกชนรายใหญ่และบริษัทประกัน เพื่อนำเสนอแพ็คเกจการตรวจและการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม และต่อยอดไปสู่คนไข้ต่างชาติ ผ่านความร่วมมือกับสถานทูตและตัวแทนคนไข้ต่างประเทศ และที่ขาดไม่ได้ คือ ความร่วมมือระหว่างธุรกิจในกลุ่มพฤกษา ทั้งพฤกษา เรียลเอสเตท และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

4. ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

ลักษณะผลิตภัณฑ์หรือบริการ

บริษัทฯ เล็งเห็นรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปและเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น แม้ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 พฤติกรรมการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ก็มิได้ลดลง จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง บจ. ซินเนอร์จี โกรท (“SGC”) ในเดือนมิถุนายน 2565 เพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี (Enterprise Tech) มุ่งหวังเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีให้กับกลุ่มธุรกิจในเครือพฤกษา โฮลดิ้ง ส่งต่อการเปลี่ยนผ่านสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Platform) เพื่อเชื่อมโยงความต้องการที่หลากหลายและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าลูกค้าอย่างสูงสุด โดยธุรกิจของ SGC เริ่มตั้งแต่การพัฒนาเว็บไซต์ Clickzy.com สำหรับลูกค้าบุคคล และ Clickbiz สำหรับลูกค้าธุรกิจ รวมถึง MyHaus แอปพลิเคชันเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกบ้านผ่านเทคโนโลยีเพื่อการอยู่อาศัย เชื่อมโยงจากกลุ่มลูกค้า ผู้ผลิตสินค้าเพื่อนำมาจำหน่ายให้กับบริษัท จนถึงผู้ให้บริการขนส่งให้เชื่อมต่อกับทุกบริการภายในเครือ พร้อมกับการเข้าถึงฐานลูกค้าปัจจุบันกว่าแสนราย ประกอบด้วยกลุ่มลูกบ้านของพฤกษา เรียลเอสเตท กลุ่มคนไข้ของโรงพยาบาลวิมุต และลูกค้าทั่วไป ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบเหนือกว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซรายอื่น เสมือนไม่มีค่าใช้จ่ายทางการตลาดและการขายในการได้มาซึ่งลูกค้าใหม่ นับเป็นจุดแข็งของกลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่อยู่ภายใต้การดูแลของ SGC นอกจากนี้ ยังเป็นการเสริมความแข็งแกร่งและสร้างมูลค่าให้กับสินค้าและบริการของ 2 ธุรกิจหลักภายใต้พฤกษา โฮลดิ้ง ซึ่งมากกว่าเพียงการส่งมอบที่อยู่อาศัยให้แก่ลูกบ้านของพฤกษาและการให้บริการรักษาพยาบาลแก่คนไข้ของโรงพยาบาลวิมุต โดย SGC ดำเนินธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โดยมี 5 กลุ่มธุรกิจภายใต้การดำเนินงาน ได้แก่

ธุรกิจบริหารห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Management)

SGC มีการบริหารจัดการระบบห่วงโซ่อุปทานของผู้ใช้บริการประเภทองค์กรธุรกิจและรูปแบบบุคคลธรรมดา โดยดำเนินการผ่านแพลตฟอร์มชื่อ Clickzy ซึ่งเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์นำเสนอสินค้าและบริการสำหรับที่อยู่อาศัย ครอบคลุมสินค้าที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ไลฟ์สไลต์การตกแต่งบ้านไปจนถึงการสร้างบ้าน ทั้งยังเป็นมาร์เก็ตเพลสออนไลน์ที่รวบรวมสินค้าและบริการจากทุกธุรกิจภายในกลุ่ม เช่น แพคเกจตรวจสุขภาพจากโรงพยาบาลวิมุต คูปองส่วนลดวันโอนกรรมสิทธิ์จากพฤกษา เรียลเอสเตท เฟอร์นิเจอร์จาก ZDecor อำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าสามารถเลือกซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ ผ่าน Clickzy โดยสามารถชำระเงินทันที ด้วยระบบการจ่ายเงินที่ปลอดภัยผ่านระบบ 3D Secure พร้อมกับผู้ขายสินค้าที่มีความน่าเชื่อถือผ่านขั้นตอนการทำ Seller Verification หรือการยืนยันตัวตนของผู้ค้า ทำให้สินค้ามีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม โดยให้บริการลูกค้าในรูปแบบ B2B2C (Business-to-Business-to-Customer) แบ่งเป็น B2C ลูกค้ารายย่อยและ B2B ลูกค้าในรูปแบบธุรกิจ

รูปแบบธุรกิจ B2B2C บนแพลตฟอร์มคลิกซิ

สำหรับ B2C หรือธุรกิจเพื่อลูกค้าบุคคล ผ่านเว็บไซต์ Clickzy.com เป็นสินค้าที่เกี่ยวกับการอยู่อาศัย โดยมีส่วนลดพิเศษ Flash Sale, Discount Code รวมถึงสินค้าและบริการแนะนำประจำเดือน เพื่อให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าในราคาที่คุ้มค่า ส่วน B2B หรือธุรกิจเพื่อลูกค้าในรูปแบบธุรกิจผ่านเว็บไซต์ Clickbiz.Clickzy.com เป็นแพลตฟอร์มหรือระบบสำหรับลูกค้าธุรกิจ อำนวยความสะดวกด้านการบริหารจัดการทรัพยากรต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพ ประหยัดต้นทุนและเวลา โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดความซับซ้อนของงานด้านเอกสาร ลดต้นทุนด้านทรัพยากร มีเป้าหมายคือ รวมกระบวนการทางธุรกิจและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง การจัดการคลังสินค้า การขนส่ง การขาย ระบบการบัญชีและกระบวนการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ช่วยให้ธุรกิจสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการวางแผน ติดตามสถานะ และการบริหารจัดการทรัพยากรต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ

ธุรกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และบำรุงรักษาที่อยู่อาศัย

SGC ได้คิดค้นและพัฒนาต้นแบบแอปพลิเคชันมายเฮาส์ เทค (“MyHaus”) ที่ให้บริการเกี่ยวข้องกับการอยู่อาศัยสำหรับลูกบ้านพฤกษา เรียลเอสเตทรวมถึงโครงการอสังหาริมทรัพย์ทั่วไป ซึ่งถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าของธุรกิจเรียลเอสเตทของบริษัทฯ โดยใช้เทคโนโลยี IoT (Internet of Things) เริ่มตั้งแต่ Home Automation (อุปกรณ์เชื่อมต่อกับระบบบ้านอัจฉริยะ) รวมถึงแอปพลิเคชันบริหารจัดการที่อยู่อาศัยและนิติบุคคลพร้อมให้บริการ After Sales การดูแลส่วนกลางและสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเพื่อทำให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างสูงสุด MyHaus ทำงานอย่างใกล้ชิดกับนิติบุคคลเพื่อให้การพัฒนาแอปพลิเคชันเป็นไปตามความต้องการของลูกค้า เช่น การจองพื้นที่ส่วนกลาง การบริการจัดการแขกผู้มาเยี่ยม และการบริหารจัดการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายในบ้านพัก เริ่มเปิดให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันมือถือตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 โดยในช่วงเริ่มต้น MyHaus ให้บริการเฉพาะลูกบ้านของโครงพฤกษา เรียลเอสเตท ที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2566 ปัจจุบันมีโครงการของพฤกษา เรียลเอสเตท ทยอยใช้บริการเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เช่น The Plant ฉลองกรุง 2, Passorn รังสิต อเวนิว, บ้านกรีนเฮ้าส์ (รังสิตสเตชั่น-ซ.เวิร์คพอยท์)

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการตกแต่งและออกแบบ

จากการรวมตัวของกลุ่มพนักงานเพื่อเข้าร่วมโครงการ Innovation Project ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งเสริมให้พนักงานมีไอเดียใหม่เพื่อสนับสนุนธุรกิจของพฤกษา เรียลเอสเตท และตอบโจทย์ผู้บริโภคให้มากยิ่งขึ้น โดยกลุ่มพนักงาน ZDecor ได้ออกแบบแนวคิดทางธุรกิจโดยยึดความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก ผ่านการทำ Customer Empathy จากการสัมภาษณ์ สอบถาม พูดคุย มีการสร้างต้นแบบของผลิตภัณฑ์กับลูกค้าของพฤกษา เรียลเอสเตท ทำให้พบปัญหาของกลุ่มลูกค้าซึ่งไม่เชี่ยวชาญด้านการตกแต่งบ้านและหาผู้ออกแบบและผู้รับเหมาที่น่าเชื่อถือได้ยาก จึงได้นำเสนอไอเดียและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มลูกค้าของพฤกษา เรียลเอสเตท โดยได้จัดตั้งเป็นหน่วยงานในปี 2563 เพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการตกแต่งและออกแบบโดยรวบรวมดีไซน์เนอร์ชั้นนำพร้อมนำเสนอการออกแบบและการตกแต่งที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในหลากหลายรูปแบบตั้งแต่ฟังก์ชันการใช้งาน การเพิ่มพื้นที่การใช้งานการบริการจัดการผู้รับเหมา ช่วยต่อยอดกลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตท ให้นำเสนอโครงการบ้านที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ตรงตามความต้องการสูงสุด พร้อมสร้างมูลค่าผ่านการให้บริการและอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า

ภายหลังการเติบโตในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ZDecor จึงได้รับการจัดตั้งเป็นบริษัทย่อยของ SGC ตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 รวมถึงได้รับความสนใจจากบริษัทจากประเทศสิงค์โปร์เข้าร่วมลงทุนใน ZDecor และเปลี่ยนเป็นบริษัท Wizlah ประเทศไทย ต่อยอดธุรกิจสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ด้านการออกแบบโดยใช้ภาพจำลองสามมิติ หรือ AR เพื่อก้าวสู่การเป็น one-stop-design-service อย่างครบวงจร

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการตลาดออนไลน์

ปันได้ เปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน 2565 ดำเนินธุรกิจเป็นแพลตฟอร์มกลางในการนำเสนอสินค้าและบริการ ผ่านบุคคลที่น่าเชื่อถือหรือมีผู้ติดตาม (Key Opinion Leader) โดยเป็นการทำการตลาดแบบ Affiliate Model เนื่องจากในปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่เชื่อถือคำแนะนำของคนรู้จักหรือคนที่ตัวเองเชื่อถือมากกว่าคำโฆษณาในสมัยก่อน การตัดสินใจซื้อสินค้าเกิดจากความไว้วางใจเลือกใช้สินค้าหรือบริการที่เข้าถึงด้วยการบอกต่อ ซึ่งแพลตฟอร์มของปันได้ช่วยให้ผู้ขายสินค้าสามารถขายของออนไลน์ได้ง่ายขึ้นเนื่องจากมีระบบสนับสนุนการทำงาน เช่น ระบบชำระเงิน และระบบการจัดการสินค้าคงคลัง

กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโลโนยีเพื่อสุขภาพ

eHealth เป็นกลุ่มธุรกิจใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อการผสานเทคโนโลยีเข้ากับความรู้ทางการแพทย์เพื่อทำให้ผู้คนมีชีวิตที่ยืนยาวและมีสุขภาพดี โดยการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เช่น การทำนัดหมายแพทย์ออนไลน์ การติดต่อออนไลน์กับแพทย์ การจัดส่งยาผ่านแพลตฟอร์ม ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างแนวทางใหม่ในการให้บริการด้านสุขภาพ เพื่อสร้างนวัตกรรมที่มีศักยภาพในการรักษาโรค การวินิจฉัย และการบำบัดที่ทันสมัย โดยการทำงานร่วมกับคลินิก โรงพยาบาล และผู้ประกอบการในด้านสุขภาพ หน่วยงาน eHealth มุ่งหวังที่จะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอุตสาหกรรมสุขภาพด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย ณ ปัจจุบัน eHealth ดูแลด้านการจัดการสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาสุขภาพบนแพลตฟอร์ม Clickzy เช่น สินค้าหมวดอาหารเสริม สินค้าหมวดความงาม รวมถึงสินค้าและแพคเกจจากโรงพยาบาลวิมุต

5. การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลัก

บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นการลงทุนเพื่อส่งเสริมและเพิ่มความสามารถในการสร้างผลกำไร สร้างรายได้ประจำ และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจหลัก นอกจากนั้นยังคงแสวงหาโอกาสการลงทุนในกลุ่มธุรกิจใหม่และเทคโนโลยีเกิดใหม่ เพื่อเป็นช่องทางการขยายการเติบโตของธุรกิจตามกลยุทธ์ระยะยาวของบริษัทฯ ทั้งในและต่างประเทศ โดยมีรูปแบบการลงทุนที่หลากหลายดังนี้

ประเภทการลงทุน PropTech HealthTech SustainabiityTech อื่น ๆ
ธุรกิจร่วมทุน
(Corporate Venture Capital)
การลงทุนเชิงกลยุทธ์
(Strategic Investment)
ธุรกิจใหม่
(New Seed Business)

การลงทุนในกลุ่ม PropTech

ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยมีการนำ Property Technology (PropTech) มาช่วยส่งเสริมและผลักดันการประกอบธุรกิจ ส่งผลให้เกิดการทำธุรกรรมด้านการอยู่อาศัยในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น เพื่อยกระดับการเพิ่มคุณภาพและการบริการ อย่างไรก็ตาม ภาพรวมอุตสาหกรรมอสังหาฯ ต่อการนำ PropTech มาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ บริษัทฯ จึงถือเป็นโอกาสในการเติบโตที่แตกต่างเพื่อสร้างการลงทุนอย่างยั่งยืน โดยบริษัทฯ ยังคงการลงทุนในบริษัท Taronga Ventures ในส่วนของ RealTech Ventures Fund ซึ่งถือเป็นกองทุนธุรกิจร่วมลงทุน (Venture Capital Funds) มีฐานการลงทุนในประเทศออสเตรเลียที่มีชื่อเสียงและมีความเชี่ยวชาญในการลงทุนในกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีซอฟแวร์ และนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม (Environment) ความยั่งยืน (Sustainability) และการลงทุนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (Responsible investment) แห่งเอเชีย โดยมุ่งเน้นการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมอสังหาฯ เป็นหลัก

รวมถึงยังคงการลงทุนในบริษัท Investacrowd Limited หมู่เกาะบริติชเวอร์จินภายใต้การลงทุนใน InvestaX ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงิน และแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัล ผ่านการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนการลงทุน ลดต้นทุนการทำธุรกรรม สร้างความโปร่งใส และเพื่อส่งมอบการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในตลาดเอกชนทั่วโลก ทั้งนี้การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน สามารถส่งเสริมการเติบโตของบริษัทฯ เพื่อรองรับการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ดิจิทัลในอนาคตได้

การลงทุนในกลุ่ม HealthTech

จากสถานการณ์การเติบโตของสังคมผู้สูงอายุ และความตื่นตัวของธุรกิจสุขภาพ (Wellness) ที่เร่งให้ HealthTech เข้ามามีบทบาทในการบริการสุขภาพ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงและอำนวยความสะดวก ประกอบกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสุขภาพเชิงป้องกันมากขึ้น หนุนให้ตลาด HealthTech ในไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการได้นำเทคโนโลยีด้านสุขภาพเข้ามาช่วยส่งเสริมการเข้าถึง และการพัฒนาในด้านการดูแลรักษา ส่งผลให้เกิดการให้บริการและการตรวจรักษาในรูปแบบใหม่มากขึ้น เช่น การตรวจวินิจฉัยและรักษาทางไกล (Telemedicine) การใช้ปัญญาประดิษฐ์มาช่วยวินิจฉัยโรค (Healthcare AI) การค้นหาผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Caregiver Platform) โดยกลุ่มภาคธุรกิจสุขภาพ ได้ลงทุนและพัฒนาจากการดูแลรักษาแบบเดิมมาเป็นการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ทำให้การเข้าลงทุนและการเป็นพันธมิตรกับผู้นำทางด้านเทคโนโลยีด้านสุขภาพถือเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างการเติบโต เพิ่มการเข้าถึงลูกค้า และพัฒนาการให้บริการ เพื่อสร้างการลงทุนอย่างยั่งยืน

บริษัทฯ ยังคงลงทุนในกองทุนธุรกิจร่วมลงทุน (Venture Capital Funds) ด้านเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ (Health Technology) ในบริษัท Pathology Asia Holdings Pte. Ltd. (“PAH”) ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งสัญชาติสิงคโปร์ โดย PAH ถือเป็นหนึ่งในผู้นำในการให้บริการด้านปฏิบัติการตรวจวินิจฉัย (Clinical Diagnostic Service) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีผู้ถือหุ้นหลัก (Lead investor) เป็นกองทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ โดยมีบริษัทในเครือประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการด้านการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ (Clinical Diagnostics & Laboratories Service) การให้บริการด้านระบบดิจิทัลสุขภาพ (Digital health) และธุรกิจด้านการตรวจสอบและวินิจฉัยจีโนมิกส์ (Genomics and Life Sciences) ปัจจุบัน PAH มีบริษัทครอบคลุมทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และทวีปออสเตรเลีย ซึ่งการลงทุนในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการลงทุนเพื่อขยายตลาดในประเทศไทยแล้ว ยังนำไปสู่โอกาสการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจได้ในอนาคต ซึ่งสามารถนำองค์ความรู้ นวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้เสริมธุรกิจการให้บริการด้านสุขภาพของบริษัทฯ ได้ โดยปัจจุบันได้เริ่มจัดตั้งบริษัทในรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินธุรกิจ Genomic & Laboratory services ในประเทศไทยต่อไป

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงการลงทุนในบริษัท Naluri Pte. Ltd. ประเทศมาเลเซีย และจัดตั้งบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) ร่วมกับกลุ่ม Naluri เพื่อขยายโอกาสทางการตลาดในประเทศไทย โดย Naluri เป็นผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพดิจิทัล (Digital Preventive Wellness) ที่ใช้ AI เฉพาะทางด้านสุขภาพมาช่วยในการวิเคราะห์ ออกแบบแผนและวิธีการดูแลตามสุขภาวะของแต่ละบุคคล เพื่อการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อช่วยจัดการกับภาวะโรคเรื้อรังหลากหลายรูปแบบ โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ประกอบด้วย กลุ่มบริษัทเอกชนที่ต้องการดูแลสุขภาพพนักงาน กลุ่มผู้ทำประกันสุขภาพ และกลุ่มบุคคลทั่วไป

รวมถึงยังคงการลงทุนในบริษัท Amili Pte. Ltd. ประเทศสิงคโปร์ และจัดตั้งบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) ร่วมกับกลุ่ม AMILI เพื่อขยายโอกาสทางการตลาดในประเทศไทย ซึ่ง Amili เป็นผู้นำในด้านไมโครไบโอมในระบบทางเดินอาหาร (Gut Microbiome) หรือเทคโนโลยีชีวภาพด้านจุลชีพในระบบทางเดินอาหารที่มีความแม่นยำแห่งแรกและแห่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยบริษัทประกอบธุรกิจการวินิจฉัยและการรักษาด้วยไมโครไบโอม (Diagnostics & Therapeutics) การให้บริการปลูกถ่ายจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร (Fecal Microbiota Transplant) ธุรกิจสุขภาพส่วนบุคคล (Personalized Wellness) รวมถึงการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในการทดสอบวินิจฉัย (Test kit) และผลิตภัณฑ์กลุ่มโปรไบโอติก (Probiotics) ธุรกิจให้คำปรึกษาด้านผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ (Functional Food) รวมถึงการออกผลิตภัณฑ์ร่วม (Co-product) และการรับรองผลิตภัณฑ์ (Health Labelling)

การลงทุนในบริษัท Naluri Pte. Ltd. และบริษัท Amili Pte. Ltd. นี้ จึงเป็นการเปิดโอกาสในการลงทุนและพัฒนาศูนย์วิจัย รวมถึงการรักษาด้านระบบทางเดินอาหาร และเปิดโอกาสในการเป็นผู้ผลิตสินค้ากลุ่มโปรไบโอติกได้ในอนาคต

ในปี 2566 บริษัทฯ ยังได้ลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจด้านสุขภาพที่มีโอกาสในการเติบโตสูง และมีความสามารถในการแข่งขัน โดยได้ลงทุนในบมจ. นำวิวัฒน์ เมดิคอล คอร์ปอเรชั่น (“NAM”) ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมีสิทธิบัตรเป็นของตนเอง ในการดำเนินธุรกิจที่ผลิต นำเข้า และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับการทำความสะอาด และฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงผลิตภัณฑ์สิ้นเปลืองทางการแพทย์ และให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างครบวงจร ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังเล็งเห็นถึงโอกาสที่จะบูรณาการความร่วมมือระหว่างกันเพิ่มเติมในอนาคต

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังขยายการลงทุนเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยได้ลงทุนในกลุ่มบจ. เค.พี.เอ็น.ซีเนียร์ ฮอสปิตัล (“KPNH”) กลุ่มผู้นำในอุตสาหกรรมดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย ภายใต้ชื่อแบรนด์ Chersery และบ้านธรรมชาติ โดยมีธุรกิจที่สำคัญคือโรงพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุ Nursing Home และ Home Care เป็นต้น โดยมีนพ.เก่งพงศ์ ตั้งอรุณสันติ นายกสมาคมการค้าและการบริการสุขภาพผู้สูงอายุไทย (SHSTA) เป็นผู้บริหาร การได้ KPNH มาเป็นพันธมิตรจะทำให้กลุ่มโรงพยาบาลวิมุตมีบริการที่ครอบคลุม และขยายบริการได้รวดเร็วมากขึ้น รวมถึงเป็นการสนับสนุนกลุ่มพฤกษา เรียลเอสเตท ด้วยการส่งพยาบาลไปดูแลผู้สูงอายุที่พักอยู่ที่บ้าน (Home Care) โดยไม่ต้องเดินทางไปอยู่ Nursing Home ซึ่งเป็นการส่งเสริมรายได้ให้กับทั้งสองธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัทฯ

บริษัทฯ ยังได้มีการลงทุนในบริษัท Perseus Biomics BV (“Perseus”) ประเทศเบลเยียม ซึ่งเป็นผู้ให้บริการตรวจไมโครไบโอม (Microbiome) ด้วยเทคโนโลยี DynaMAP™ ซึ่งได้รับการจดสิทธิบัตร ด้วยเทคโนโลยีดังกล่าว ทำให้ Perseus สามารถลดระยะเวลาการตรวจไมโครไบโอมเหลือเพียง 3 ชั่วโมง และได้รับผลที่แม่นยำ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพโดยรวมให้กับกระบวนการตรวจและรักษาไมโครไบโอม

การลงทุนในกลุ่ม SustainabilityTech

บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าสร้าง Energy x Living Solution เพิ่มโอกาสทางธุรกิจในการนำบริการพลังงานสะอาดเข้าเป็นแกนการพัฒนาการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน มุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low-Carbon Economy) ในปีที่ผ่านมาได้จัดตั้งบริษัทภายใต้กลุ่มรีเจน เพื่อดำเนินงานเกี่ยวกับการทำวิจัย ให้คำปรึกษาและแนะนำการบริหารจัดการ รวมถึงการสร้างและผลิตผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในระดับภูมิภาค

การลงทุนอื่นๆ

บริษัทฯ ได้เข้าลงทุนใน บจ. ปันได้ เพื่อการส่งเสริมธุรกิจอีคอมเมิร์ซของบริษัทฯ โดยปันได้เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ธุรกิจและเจ้าของสินค้าเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ตรงกลุ่มและกว้างมากขึ้น ซึ่งเป็นนวัตกรรม Social Commerce 4.0 ผ่านเครื่องมือ KOL และ KOC รวมถึงผ่านการแนะนำของลูกค้าสู่ลูกค้า การส่งต่อการแนะนำไปสู่ผู้บริโภคจะได้รับผลตอบแทนเป็นค่าคอมมิชชันเมื่อมีการขายเกิดขึ้น เจ้าของสินค้าสามารถสร้างพื้นที่การขายในแพลตฟอร์มและส่งลิงก์ไปให้ลูกค้าชำระเงินได้โดยตรง หรือผ่านการแต่งตั้งตัวแทนขาย ในปัจจุบันธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีการแข่งขันที่สูงมาก ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายทางการตลาดมีตัวเลขที่สูงขึ้น การทำการตลาดแบบ Affiliate Marketing จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ และมีแนวโน้มโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง บริษัทฯ เล็งเห็นโอกาสที่จะนำโมเดลทางธุรกิจนี้มาปรับใช้ในประเทศไทยเพื่อรองรับกระแสการเติบโตในอนาคต

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้เข้าลงทุนใน บจ. วิซลาห์ เวนเจอร์ (Wizlah Venture) ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ถือหุ้นในธุรกิจ วิซ ซูเปอร์ แอป (Wiz Super App) อันเป็นแพลตฟอร์มครบวงจรเชื่อมต่อระหว่างผู้ที่ตกแต่งบ้าน นักตกแต่งภายใน และผู้ขายสินค้าเฟอร์นิเจอร์ ทั้งยังสามารถนำเสนอในรูปแบบสามมิติ นอกจากนี้ บจ. แซดเดคอร์ (“ZDecor”) ได้ร่วมทุน (Joint venture) กับกลุ่ม Wizlah เพื่อนำแพลตฟอร์มเข้ามาพัฒนาและใช้ในประเทศไทย ช่วยการตกแต่งที่อยู่อาศัยของลูกบ้านพฤกษา สร้างรายได้จากการใช้เฟอร์นิเจอร์ สินค้าตกแต่งบ้าน หรือบริการอื่น ๆ ผ่านแพลตฟอร์ม รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักตกแต่งภายในของไทยนำเสนอผลงานในประเทศสิงคโปร์

บริษัทฯ ได้เข้าลงทุนในกองทุน CapitaLand SEA Logistics Fund ผ่านความร่วมมือกับแคปปิตอลแลนด์ อินเวสเม้นท์ กรุ๊ป (“CapitaLand Investment” หรือ “CLI”) กลุ่มธุรกิจจัดการการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับโลก ที่มีฐานมั่นคงในทวีปเอเชียและ แอลลี่ โลจิสติกส์ พร็อพเพอร์ตี้ (“Ally Logistic Property” หรือ “ALP”) ผู้ให้บริการโซลูชันคลังสินค้าแบบครบวงจรที่ล้ำสมัยที่สุดในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของประเทศไต้หวัน โดย CLI รับหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการกองทุนดังกล่าว สำหรับความร่วมมือระดับภูมิภาคครั้งนี้ จะมุ่งเน้นไปที่การลงทุนและพัฒนาทรัพย์สินด้านอสังหาริมทรัพย์สำหรับอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ที่ใช้ในประเทศสำคัญ ๆ ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะด้านโลจิสติกส์ในรูปแบบของการให้บริการสู่โซลูชันนวัตกรรมใหม่ที่เพิ่มประสิทธิภาพ สร้างความคุ้มค่า ใช้เวลาน้อยลง เพิ่มการไหลเวียนของสินค้า เพื่อให้ลูกค้าและร้านค้าออนไลน์ต่าง ๆ สามารถใช้ประโยชน์จากคลังเก็บสินค้า ที่ลดการใช้ทรัพยากร พร้อมกับช่วยลดต้นทุนการดำเนินการได้ โดยถือเป็นก้าวแรกของกลุ่มบริษัทฯ สู่การขยายธุรกิจไปยังอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ซึ่งช่วยส่งเสริมกลยุทธ์การกระจายรายได้ที่หลากหลายและเพิ่มรายได้ประจำมากขึ้น

ในปี 2566 บริษัทฯ ยังได้ขยายการลงทุนกับ CLI เป็นกองทุนที่ 2 โดยจัดตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์เพื่อส่งเสริมและดูแลสุขภาพภายใต้กองทุน CapitaLand Wellness Fund (“C-WELL”) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์ม Ascott Hospitality ของ CLI และโรงพยาบาลวิมุตในเครือพฤกษา โฮลดิ้ง เพื่อเพิ่มโอกาสในการลงทุนและการปรับปรุงสินทรัพย์ในอสังหาริมทรัพย์ที่มุ่งเน้นด้านสุขภาพและการดูแลสุขภาพ มุ่งเจาะตลาดไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย เป็นหลัก โดยมีเป้าหมายที่จะลงทุนในโครงการเดี่ยวหรือมิกซ์ยูส เพื่อรองรับฐานลูกค้าที่หลากหลาย เช่น โครงการโรงแรมและที่อยู่อาศัยเพื่อสุขภาพ ศูนย์สุขภาพ โรงพยาบาลเฉพาะทาง ศูนย์พักฟื้นพร้อมบริการทางการแพทย์ จึงนับได้ว่าการร่วมมือจัดตั้งกองทุนนี้เป็นการนำศักยภาพอันแข็งแกร่งของพันธมิตรเพื่อร่วมกันพัฒนาที่อยู่อาศัยควบคู่ไปกับการส่งเสริมสุขภาพที่ดี

บริษัทฯ ได้มีการลงทุนในหุ้นสามัญของ GEL ในสัดส่วนร้อยละ 18.26 โดยธุรกิจหลักของ GEL คือการผลิต และจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง อันได้แก่ ผลิตภัณฑ์เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง ผลิตภัณฑ์พรีคาสท์ เสาเข็มเจาะ เสาเข็มดินซีเมนต์ ชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูปสำหรับงานสาธารณูปโภค ฯลฯ ซึ่งเป็นวัสดุหลักในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยการเข้าลงทุนใน GEL ถือเป็นการขยายธุรกิจแบบย้อนหลัง (Backward Integration) ให้ครอบคลุมไปถึงธุรกิจผู้ผลิตวัตถุดิบ หรือธุรกิจที่เป็นต้นน้ำของห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้บริษัทฯ สามารถดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ อันส่งผลให้เกิดการบูรณาการเพื่อลดต้นทุนการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Cost Saving Synergy) อันเป็นวัสดุหลักที่ทางบริษัทฯ ใช้สำหรับพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ โดยการซื้อวัสดุหลักจาก GEL เพื่อพัฒนาโครงการของบริษัทฯ ยังส่งผลดีต่อผลประกอบการของ GEL เนื่องจากทำให้ GEL มีโอกาสในการรับรู้รายได้เพิ่มขึ้น และมีโอกาสเติบโตสูง เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว

นอกจากนี้ ในด้านธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) บริษัทฯ ได้ลงทุนใน บจ. บีทูดับบลิว ซึ่งเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม findTEMP ในประเทศไทย โดย findTEMP เป็นหนึ่งในผู้ชนะในการประกวดโครงการ Accelerate Impact with PRUKSA ซึ่งดำเนินธุรกิจจับคู่ผู้จ้างงานกับพนักงานพาร์ตไทม์ในร้านอาหาร คลังสินค้า โรงแรม และธุรกิจจัดเลี้ยง ทั้งนี้บริษัทฯ เล็งเห็นถึงโอกาสในการเจริญเติบโตทางธุรกิจ ควบคู่กับการส่งเสริมสังคมให้ยั่งยืนต่อไป