กลุ่มพฤกษาได้นำกลยุทธ์ “Live well Stay well” เพื่อสร้างประสบการณ์การอยู่อาศัยผนวกกับธุรกิจเฮลท์แคร์เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยมีคุณภาพชีวิตที่ “อยู่ดี มีสุข”
Q1 อะไรคือความท้าทายที่สุดในปี 2566 และการเตรียมความพร้อมสำหรับความไม่แน่นอนในปี 2567
ความท้าทายในปี 2566
  • ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กลุ่มพฤกษาได้นำกลยุทธ์ “Live well Stay well” เพื่อสร้างประสบการณ์การอยู่อาศัยผนวกกับธุรกิจเฮลท์แคร์เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยมีคุณภาพชีวิตที่ “อยู่ดี มีสุข” (รับชมวิดีโอ “ต้นไม้แห่งความสุขหน้าตาเป็นยังไง” ผ่านทาง https://www.youtube.com/watch?v=YXFlDwdHJFc) พร้อมกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ และวัฒนธรรมองค์กร รวมถึงการเริ่มต้นธุรกิจใหม่เพื่อสนับสนุนการสร้างห่วงโซ่ธุรกิจเพื่อเชื่อมโยงกับธุรกิจหลัก และการวางรากฐานสู่การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน อีกสิ่งที่เป็นความท้าทายในช่วงปีที่ผ่านมาคือ การสร้างผลการดำเนินงานให้เติบโตท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความเปราะบางจากเหตุปัจจัยต่าง ๆ ทั้งผลกระทบทางตรงและทางอ้อมต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยและอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์
  • โดยเฉพาะภาวะเงินเฟ้อซึ่งส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งปรับตัวขึ้น และนำไปสู่การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยตามลำดับ นั่นทำให้ความต้องการในการซื้อที่อยู่อาศัยได้รับผลกระทบจากการจำกัดวงเงินให้สินเชื่อสำหรับที่อยู่อาศัยตามมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย
  • อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โดยรวมในช่วงปลายปีเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น จากราคาน้ำมันที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ อัตราดอกเบี้ยเริ่มมีแนวโน้มคงที่ และมาตรการของรัฐบาลในการลดค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดจำนองที่เข้ามาช่วยกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ได้อีกส่วนหนึ่ง
การเตรียมความพร้อมสำหรับปี 2567
  • แม้ในปี 2567 จะมีปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวมากกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างเม็ดเงินให้เศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงเงินลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มการกระจายความเสี่ยงและการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโครงการของภาครัฐที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการประกอบธุรกิจ Health & Wellness ในไทย ซึ่งคาดว่าจะช่วยสร้างความน่าสนใจให้กับธุรกิจเฮลท์แคร์ของกลุ่มพฤกษาด้วยเช่นกัน
  • ในปี 2567 ทั่วโลกยังคงมีความเสี่ยงทั้งจากภาวะสงครามในหลายภูมิภาค อัตราดอกเบี้ยนโยบายในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักยังอยู่ในระดับสูง แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศที่ยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงหนี้สาธารณะและหนี้สินภาคครัวเรือนในประเทศที่ยังคงเพิ่มขึ้นตามลำดับ
  • เพื่อเป็นการสร้างความแข็งแกร่งและเตรียมความพร้อมของกลุ่มพฤกษานั้น

    1) ในปีที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทฯ ได้ดำเนินการเชิงกลยุทธ์โดยนำแนวคิดการตั้งศูนย์ทำกำไรหรือที่เรียกว่า Profit Center มาปรับใช้ ด้วยการ Spin Off ธุรกิจที่มีศักยภาพเพื่อเป้าหมายสู่การเติบโตในระยะยาวของทั้งกลุ่มที่สามารถเห็นผลได้ทันที อันได้แก่ การแยกธุรกิจพรีคาสท์ตั้งเป็นบริษัทใหม่ภายใต้อินโนพรีคาสท์ พร้อมดึงบมจ. เจนเนอรัล เอนจิเนียริ่ง เข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ โดยได้ควบรวมการผลิตพรีคาสท์และเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต Precast Façade หรือระบบชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูปสำหรับผนังอาคารภายนอกเพื่อใช้ในโครงการคอนโดมิเนียม ทำให้ฐานลูกค้าเพิ่มเป็นกว่า 30 ราย ผลักดันยอดคำสั่งซื้อรวม (Backlog) ได้กว่า 3,000 ล้านบาท ถือเป็นอีกหนึ่งข้อพิสูจน์ที่ส่งเสริมความสามารถระหว่างกันและทำให้อัตราเร่งของการเติบโตในอินโนพรีคาสท์สูงขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งถือเป็นการสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงและมีแผนนำอินโนพรีคาสท์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีการโอนกิจการห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ของแลปพลัส วัน ให้อยู่ภายใต้การร่วมทุนกับ Pathology Asia Holdings Pte. Ltd. โดยทั้งสองรายการนี้ ส่งผลให้กลุ่มพฤกษารับรู้กำไรพิเศษในปี 2566 รวมกว่า 692 ล้านบาท

    2) แม้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2567 ยังคงเผชิญต่อปัจจัยความไม่แน่นอนในหลายประการซึ่งอาจส่งผลให้ตลาดโดยรวมไม่เติบโตเท่าที่ควร ทว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มพฤกษาได้เตรียมแผนการรับมือด้วยการเปิดตัวทาวน์โฮมในราคาที่จับต้องได้ภายใต้แบรนด์ “บ้านกรีนเฮ้าส์” พร้อมเงินผ่อนชำระต่ำเพียง 3,000 บาทต่อเดือน รวมถึงแผนนำเสนอโครงการ “The Palm” พัฒนาการและวัชรพล ผสานการออกแบบที่อยู่อาศัยรูปแบบใหม่แบบ Passive Home และเหมาะกับคนทุกวัย พร้อมเตรียมเปิดขายโครงการที่อยู่อาศัยระดับกลางถึงบน เพื่อให้สอดรับกับความต้องการที่อยู่อาศัยในปัจจุบันที่มีความหลากหลายและตลาดต่างชาติที่เริ่มมีกำลังซื้อกลับเข้ามาในประเทศ

    3) ปี 2566 ที่ผ่านมา โรงพยาบาลวิมุตได้เพิ่มจำนวนเตียงผู้ป่วยในจากเดิม 100 เตียงเป็น 150 เตียงเพื่อรองรับการเติบโตในปี 2567 พร้อมเพิ่มการรักษาพยาบาลที่หลากหลาย เจาะกลุ่มคนไข้ประเภทกลุ่มบริษัท กลุ่มประกัน และลูกค้าต่างชาติ รวมถึงความร่วมมือกับโรงพยาบาลรัฐและพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เป็นหัวใจสำคัญที่ส่งเสริมรายได้ของธุรกิจเฮลท์แคร์ให้เติบโตขึ้นกว่าร้อยละ 50 สู่รายได้ 1,820 ล้านบาทในปี 2566 ที่ผ่านมา และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับปี 2567 เพื่อรองรับตลาดไทยสู่การเป็น Medical Hub ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะทำให้สินทรัพย์ของกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลสามารถสร้างรายได้และกำไรได้ทันที

    4) การจัดสรรสินทรัพย์ของกลุ่ม ผ่านการร่วมทุนในธุรกิจโลจิสติกส์ด้วยการจัดตั้งกองทุน CapitaLand SEA Logistics และการลงทุนในสินทรัพย์เพื่อสุขภาพภายใต้กองทุน CapitaLand Wellness Fund ซึ่งนอกจากจะช่วยสนับสนุนธุรกิจหลักแล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้ประจำผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลกอีกด้วย นอกจากนี้ กลุ่มพฤกษาได้ก่อตั้งธุรกิจใหม่ภายใต้ Synergy Growth โดยในปี 2566 ได้เปิดตัวแอปพลิเคชัน MyHaus และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Clickzy.com เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกบ้านในโครงการของพฤกษาและสนับสนุนกลยุทธ์บริษัทฯ “Live well Stay well” นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ต่อยอดการบริการซึ่งถูกคิดค้นและพัฒนามาจากทีมพนักงานภายในองค์กรเพื่อให้บริการออกแบบตกแต่งและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ โดยภายหลังสามารถแยกบริษัทและจัดตั้งเป็น ZDecor เตรียมพร้อมการลงทุนเชิงกลยุทธ์ พร้อมเปิดตัวในปี 2567 และวางแผนรุกตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป

Q2 กลุ่มพฤกษาจะยังคงความความโดดเด่นด้วยฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและการจ่ายเงินปันผลในระดับสูงเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมไว้ได้หรือไม่ หรือมุ่งสู่ความโดดเด่นในด้านอื่น ๆ ในอนาคต
จุดแข็งของกลุ่มพฤกษา
  • ท่ามกลางสถานการณ์ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลกที่ส่งสัญญาณวิกฤตจากอัตราการผิดนัดชำระตราสารหนี้เพิ่มขึ้น และบริษัทในไทยหลายรายเริ่มมีปัญหาในลักษณะเดียวกัน ทว่ากลุ่มพฤกษายังคงดำรงฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง แม้จะมีการลงทุนในธุรกิจที่หลากหลายเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยมีสัดส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำเพียง 0.27 เท่า
ความโดดเด่นในด้านอื่น ๆ ของทั้งกลุ่ม
  • นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงมุ่งให้ความสำคัญต่อการจัดการกับคุณภาพของสินทรัพย์ ด้วยการลดสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ได้ถูกนำมาเร่งการพัฒนาและจำหน่ายออกไป หรือการนำเทคโนโลยีผนวกกับการออกแบบในรูปแบบใหม่เข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความน่าสนใจเพิ่มขึ้น รวมถึงการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่ทำให้เกิดรายได้ประจำเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 17 เป็นร้อยละ 31 เมื่อสิ้นปี 2566 ดังจะเห็นได้จากการลงทุนใหม่ที่จะเป็นส่วนเสริมธุรกิจหลัก ทำให้อัตราการทำกำไรในระยะยาวดีขึ้น และสามารถนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีจากภายนอกเข้ามาปรับใช้ในกระบวนการทำงานและการขยายธุรกิจได้เพิ่มขึ้น เราเชื่อมั่นว่าประโยชน์เหล่านี้จะถูกส่งผ่านไปยังผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นในระยะยาวตามลำดับ
Q3 กลุ่มพฤกษาได้ลงทุนในธุรกิจและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนตลอดทั้งปี ในฐานะของการเป็นผู้นำองค์กร ขอทราบมุมมองด้านความยั่งยืนและประโยชน์ต่อกลุ่มพฤกษา
การลงทุนในธุรกิจและสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนในปี 2566
  • การประกาศเจตนารมณ์ของกลุ่มพฤกษาในเดือนมีนาคม 2566 เพื่อแสดงถึงความตั้งใจในการส่งมอบคุณค่าการอยู่อาศัยด้วยกลยุทธ์ “Live well Stay well” ผ่านการพัฒนานวัตกรรมการออกแบบที่อยู่อาศัยแนวใหม่เป็นบ้านคาร์บอนต่ำ เทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 329 KgCO2e (กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์) ต่อบ้าน 1 หลัง เสริมด้วยการสร้างสุขภาพที่ดีไปพร้อมกับชุมชนที่ดี ส่งมอบทั้งสินค้าและบริการผ่านสองธุรกิจหลักทั้งอสังหาฯ และเฮลท์แคร์ โดยในปีที่ผ่านมากลุ่มบริษัทฯ ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้รวมกว่า 10,190 tCO2e (ตันคาร์บอนไดออกไซด์) รวมถึงการจัดตั้งบริษัทเพื่อทำวิจัยเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม และยังเชื่อมต่อไปยังธุรกิจของกลุ่มในอนาคต นอกจากนี้ การสนับสนุนให้พนักงาน ลูกค้าในโครงการที่อยู่อาศัย หน่วยงานภาครัฐ และชุมชนโดยรอบ ร่วมกันปลูกต้นไม้กว่า 74,000 ต้นในพื้นที่ 370 ไร่ และร่วมส่งเสริมการดูแลผืนป่ากว่า 1,000 ไร่ในพื้นที่ป่าชุมชนทั้งภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถือเป็นการหล่อหลอมวัฒนธรรมองค์กร “Impact for Good ใช้ใจทำดี” ให้แก่พนักงาน และยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกบ้านและชุมชน
  • เราไม่เพียงแต่มุ่งพัฒนาความยั่งยืนภายในองค์กร หากแต่มีความเชื่อมั่นว่าการสนับสนุนธุรกิจที่สร้างผลกระทบเชิงบวกแก่สังคมและสิ่งแวดล้อม จะเป็นการขับเคลื่อนสังคมในอีกทางหนึ่ง ซึ่งนั่นเป็นที่มาของโครงการ “Accelerate Impact with PRUKSA” จากซีซัน 1 ซึ่งประสบความสำเร็จ พร้อมช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้และมีโซลูชันเชิงรุกเพื่อดูแลผู้สูงวัย สู่ซีซัน 2 ที่ยังคงมุ่งเน้นการสร้างสุขภาพกายและใจที่ดี ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างทักษะที่จำเป็นต่อโอกาสทางการงาน และต้องสร้างผลกระทบเชิงบวกด้านสิ่งแวดล้อมร่วมด้วย

    รับชมวิดีโอ Social Enterprise Programs ของกลุ่มพฤกษาได้ที่
    Pruksa Everyone Matters I Ep.2 Buddy Homecare - Life Balance
    ผ่านทาง: https://www.youtube.com/watch?v=MOrkZBWbkbk
    Pruksa Everyone Matters I Ep.3 Local ALike - Grow Home
    ผ่านทาง: https://www.youtube.com/watch?v=OVdYgOOq_xQ
    Pruksa Everyone Matters I Ep.4 findTEMP - The Opportunity 100 บาทของเราไม่เท่ากัน
    ผ่านทาง: https://www.youtube.com/watch?v=kv5Je8tCTVw

มุมมองด้านความยั่งยืนต่อกลุ่มพฤกษาเพื่อคืนสู่สังคมและสิ่งแวดล้อม
  • ในปี 2566 ที่ผ่านมา โลกเผชิญการเปลี่ยนแปลงในหลายด้านแบบฉับพลันและมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งสภาวะอากาศและภัยธรรมชาติที่แปรปรวนอย่างหนัก หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการแข่งขันที่บริษัทยักษ์ใหญ่ถูกล้มได้ภายในพริบตา นั่นเป็นการส่งเสริมให้เกิดแนวคิดการดำเนินธุรกิจ “อย่างยั่งยืน” เพื่อสร้างการเติบโตที่ไม่ได้มองเพียงระยะสั้น หากแต่ต้องมองการเติบโตในระยะยาวเป็นสำคัญ และได้กลายเป็นประเด็นที่สร้างผลกระทบเชิงบวกผ่านการพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี
  • การพัฒนาด้านความยั่งยืนของกลุ่มพฤกษานั้น เราได้ยกระดับกระบวนการทำงานและการสร้างผลกำไรเพื่อส่งต่อสู่สังคมและสิ่งแวดล้อม ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในหลายรูปแบบ ผนวกกับโมเดลธุรกิจที่ลดการถือครองสินทรัพย์ ทั้งการปรับโครงสร้างธุรกิจก่อสร้างและพรีคาสท์แยกออกจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อเพิ่มฐานลูกค้าภายนอก ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความชำนาญที่ต่างกัน และมุ่งสร้างรายได้ประจำเพิ่มขึ้น การโอนกิจการของแลปพลัส วัน ให้อยู่ภายใต้กลุ่มโรงพยาบาลวิมุต เพื่อต่อยอดความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การร่วมทุนในธุรกิจโลจิสติกส์และการลงทุนในสินทรัพย์เพื่อสุขภาพ ดังจะเห็นได้ว่าเป็นการปฏิวัติรูปแบบการดำเนินธุรกิจของทั้งกลุ่มอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมการขับเคลื่อนธุรกิจผ่านกลยุทธ์ “Outside-In Innovation” เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และความต้องการของลูกค้าเป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงนโยบายการบริหารงานแบบ Center of Excellence และ Robotic process automation (RPA) เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน ลดความผิดพลาดในงานแต่ละประเภท ประหยัดต้นทุนด้านบุคลากรและสนับสนุนให้พนักงานได้ทำงานในเชิงวิเคราะห์มากขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนผลักดันให้พนักงานทุกคนในองค์กรพร้อมปรับตัวอยู่ตลอดเวลา และมองภาพรวมของการเติบโตในระยะยาวอย่างยั่งยืน
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
ประธานกรรมการบริษัท
นายอุเทน โลหชิตพิทักษ์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม